เพื่อไม่ให้เว็ปบล็อกร้างไป วันนี้คุณนายเว่อร์ เธอขอเป็นคนบ้า เชิญชวนเพื่อนๆแวะมาลั๊ลลา ช่ะช่ะช่าหัวใจ ไปเที่ยวเมืองสุรินทร์กันจ้า |
ต่อจากตอนที่แล้ว : http://bit.ly/2qp23l2
และถัดจากเมืองบุรีรัมย์ ดิฉันก็เดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง มาเที่ยวยังเมืองสุรินทร์ต่อ อีกหนึ่งเมืองท่องเที่ยวที่น่าสนใจไม่แพ้เมืองใดๆในภาคอีสานเลยล่ะค่ะ
มีคนกล่าวไว้ว่า "ถ้ามาสุรินทร์ ต้องไปกินสุรา" โอ้ยตายล่ะ ดิฉันเห็นว่าถ้าไปกินสุราอย่างเดียว มีหวังเมาหัวราน้ำอย่างแน่นอนเลยล่ะ เพราะสุราแต่ละกั๊กนี้ กลิ่นและรสร้อนแรงยิ่งนัก เกรงมีหวังทานเข้าไปคงลงแดงตายแน่แท้เชียว ดิฉันเลยมีความเห็นให้เปลี่ยนคำกล่าวเสียใหม่เป็น ถ้ามาสุรินทร์ ต้องไปกินน้ำปลาร้า น่าจะโอเคกว่านะคะ เพราะน้ำปลาร้ายังมีแคลเซียม มีความหอมนัว แต่ถ้าไปกินสุรา มีแต่จะทำลายสุขภาพ หรือไม่ก็เปลี่ยนเป็น ถ้ามาสุรินทร์ ต้องไปกินน้ำปลาแดก แหกไปถึงทรวง กินมะม่วงรสจี๊ด อะไรประมาณนี้ น่าจะดีกว่าเยอะเลยค่ะ
สำหรับเมืองสุรินทร์เป็นอีกหนึ่งเมืองในดินแดนอีสานใต้ ที่ใครแวะมาแล้ว อย่าได้มองข้ามเลยผ่าน เพราะมีอะไรให้ยลตระการอยู่ไม่น้อย เพราะมากมายไปด้วยวัฒนธรรม ประเพณี รวมวิถีชีวิตหลากหลายเผ่าพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น ไทย ลาว ส่วย เขมร และดนตรีกันตรึมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น พอได้ฟังแล้วก็เสนาะเพราะหู เพราะจะมีซอประกอบ พอฟังแล้วอยากโยกย้ายส่ายสะโพกตามไปด้วยล่ะค่ะ นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่หลากหลายแห่งที่น่าสนใจให้ไปแวะชมกันแบบฟินๆ เช็คอินน์และในโซเชียลมีเดีย ลงภาพไอจง ไอจี ก็สวยดีไม่น้อยเลยทีเดียว
เหตุผลที่ดิฉันอยากจะแวะมาเยือนสุรินทร์อีกครั้ง เนื่องจากได้เปิดกรุอ่าน อนุสาร อสท.ปี2513 มีการเชิญชวนมาเที่ยวเมืองช้างสุรินทร์ ก็เลยขอมาตามรอยอนุสารเล่มนี้ มาเที่ยวอีกครั้ง |
คำขวัญประจำจังหวัด"สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม"
สำหรับเมืองสุรินทร์เป็นเมืองเก่าแก่มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีวัฒนธรรมที่สั่งสมสืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงสมัยปัจจุบัน สิ่งที่ปรากฏหลักฐานบ่งบอกชัดเจน ได้แก่ คูเมือง 3 ชั้น มีเนินดินเป็นกำแพง สันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองหน้าด่านของขอม ดังที่ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเรียบเรียง ถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในการรายงานตรวจราชการมณฑลอีสานและนครราชสีมา ลงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2469
และพลเมืองแห่งจังหวัดสุรินทร์ส่วนมากเป็นเขมร ซึ่งเป็นชาวพื้นเมือง เช่น บุรีรัมย์ นางรอง มีลาวเจือปนบ้างเป็นส่วนน้อยและชาวกูยซึ่งพูดภาษาของตนต่างหาก ส่วนเขมรซึ่งเป็นพลเมืองกลุ่มใหญ่ของเมืองสุรินทร์ยังคงพูดภาษาเขมร อยู่ทั่วไปและที่กล่าวว่าไม่รู้ภาษาไทยก็มีต้องใช้ล่ามเนือง ๆ ผู้ปกครองท้องถิ่น เห็นว่าเป็นการดิ้นรน แสร้งทำเป็นพูดไทยไม่ได้ก็มีอยู่มาก ชาวเขมรเข้ามาในแถบเมืองสุรินทร์มากในปี พ.ศ. 2324 ซึ่งทางฝ่ายเขมรต่ำเกิดการจลาจล โดยเจ้าทะละหะ (มู) กับพระยาวิมลราช (ฮู) ฝักใฝ่ในทางญวน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้า ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กับพระยาสุรสีห์ ยกกองทัพไปปราบปราม โดยเกณฑ์กำลังทางขุขันธ์ ประทายสมันต์ (เมืองสุรินทร์) สังขะ ไปช่วยปราบปรามเมืองประทายเพชร ประทายมาศ เมืองรูงตำแรย์ กำปงสวายและเสียมราฐ
ภาพรุ่งเช้าในหมู่บ้านชาวส่วน และงานแสดงช้างประจำปีของจังหวัดสุรินทร์ ของอนุสาร อสท.ในปี พ.ศ.2513 |
โดยสุรินทรืมีชื่อเสียงด้านการเลี้ยงช้าง การทอผ้าไหม ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ มีผู้คนหลายเผ่าพันธุ์และภาษา เช่น เขมร กูยและลาวหรือไทยอีสาน มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 11 และมีพื้นที่กว้างเป็นอันดับที่ 24 ของประเทศไทยอีกด้วย
เครดิดข้อมูลดีๆจากเว็ปไซต์ : https://th.wikipedia.org/wiki/จังหวัดสุรินทร์
หลังจากที่ได้รู้จักเมืองสุรินทร์กันบ้างแล้วนะคะ ดิฉันขอมารีวิวการเที่ยวสุรินทร์ด้วยตัวเองแบบง่ายๆให้เพื่อนๆได้ดูกันดังนี้ค่ะ
เริ่มต้นด้วยการเดินทางมาสุรินทร์ทริปนี้ ตีตั๋วนั่งรถโดยสารประจำทางออกจาก บขส.เมืองบุรีรัมย์ มาลงที่ บขส.เมืองสุรินทร์ |
หลังจากที่ได้คืนรถเช่ามอเตอร์ไซค์ไปแล้ว ก็ตีตั๋วนั่งรถโดยสารประจำทางออกจาก บขส.บุรีรัมย์ มาลงที่ บขส.สุรินทร์
พอมาถึง บขส.สุรินทร์แล้ว ดิฉันก็โทรศัพท์กริ่งกร๊างไปยังร้านเช่ารถมอเตอร์ไซต์ให้มารับที่ บขส.สุรินทร์ค่ะ เนื่องจากถ้าไม่มีรถมอเตอร์ไซต์ขับ คงลำบากแน่ๆ
โดยทางร้านก็ขับรถเก๋งบริการมารับผู้โดยสารถึง บขส.เลยนะคะ แต่ไม่ได้มีการเอารถมาส่งให้เหมือนที่บุรีรัมย์
ร้านเช่ารถมอเตอร์ไซต์ในเมืองสุรินทร์ |
เช่ารถมอเตอร์ไซต์วันละ 300 ขับเที่ยวในตัวเมืองสุรินทร์ |
ค่ามัดจำรถ 2000 บาท
ทางร้านจะยึดบัตรประจำตัวประชาชนเราไว้คะ จะได้คืนตอนนำรถเช่ามาคืน
และทางร้านมีรถมอเตอร์ไซต์อยู่ไม่กี่คันเองค่ะ ยังไงหากมาเที่ยวหน้าเทศกาล ก็ติดต่อไว้เสียเนิ่นๆนะคะ
ได้รถมอเตอร์ไซต์แล้ว ก็ไปโลดเลยจ้า
อ่อ..ลืมแจ้งไป ส่วนน้ำมันรถมอเตอร์ไซต์ ให้เหลือเท่ากับตอนที่เช่ามาเลยนะคะ หากไม่แน่ใจ ตอนเริ่มเช่าก็ถ่ายรูปเข็มน้ำมันรถไว้ด้วยก็ได้ ว่าตอนเช่ามาเหลือกี่ขี่ ขากลับก็เหลือเท่าเดิม อันนี้ทางร้านบอกมาแบบนี้
หลังจากได้รถมอเตอร์ไซต์แล้ว ก็เปิด GPS ขับไปยังโรงแรมที่พักคืนนี้ โดยพักค้างที่โรงแรมต้นคูณ ซึ่งอยู่ย่านชานเมืองเลยล่ะค่ะ ที่ดิฉันเลือกพักที่นี่ก็เพราะราคาถูกดี ตกคืนละ 400 บาท เน้นนอนอย่างเดียว ไม่เน้นดีไซน์ความสะดวกสบายอะไรทั้งนั้น ส่วนห้องพักก็พอใช้ได้ แต่เตียงบุ๋ม ยุบย้วยไปหน่อย สงสัยเตียงถูกใช้งานหนักไปหน่อย พอนอนลงแทบจะยุบไปทั้งตัวเลย
ส่วนสิ่งอำนวยความสะดวกในห้องพักก็เหมาะสมกับราคาอยู่นะคะ เพราะตู้เย็น มีตู้เย็นผ้า มีที่วางกระเป๋าให้ ห้องไม่คับแคบ อึดอัดเกินไป มีห้องน้ำในตัวให้ เสียอย่างเดียว WiFi ค่อนข้างอืดช้าไปหน่อย กว่าจะโหลดเปิดหน้าเว็ปได้ ใช้เวลานานเลย
หลังจากเช็คอินน์เข้าห้องพักแล้ว ก็ได้เวลาออกไปดินเนอร์ทานอาหารเย็นแล้วค่ะ
ไม่ไกลนักจากโรงแรมที่พัก ค้นหาใน Google ร้านอร่อยๆใกล้กับที่พัก เห็นมีร้านเฮียเกี๊ยกก๋วยเตี๋ยวเย็นตาฟอยู่ อ่านรีวิวในเว็ปไซต์ Wongnai และ pantip บอกว่าร้านก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟเจ้านี้อร่อย เลยแวะมาทานสักครั้งสิ
พอดิฉันได้ลิ้มลองทานเย็นตาโฟร้านนี้แล้ว อร่อยจริงๆแบบไม่ต้องปรุงเพิ่มเลยค่ะ ทานชามเดียวไม่อิ่ม ขอลองอีกเมนูว่าจะอร่อยใหม๊ (อร่อยแต่ละคนจะไม่เหมือนกันนะคะ)
ทีนี้ลองสั่งก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นหมูมาทานบ้างสิ รสชาติพอใช้ได้ แต่ไม่ค่อยอร่อยเท่าเย็นตาโฟ สงสัยลิ้นของดิฉันยังติดรสชาติของเย็นตาโฟอยู่กระมัง เลยทานก๋วยเตี๋ยวอีกชามไม่อร่อยเลย หากเพื่อนๆคนใหนแวะมาสุรินทร์ ก็แวะมาลิ้มลองทานกันดูนะคะ อาจจะอร่อยทั้งสองอย่างก็เป็นได้
และหลังจากทานก๋วยเตี๋ยวจนอิ่มแล้ว ดิฉันก็ขับมอเตอร์ไซต์เข้าไปในย่านตัวเมืองสุรินทร์ต่อเพื่อไปช๊อปปิ๊งที่ตลาดถนนคนเดินไนท์บาร์ซาร์ |
สำหรับถนนคนเดินแห่งนี้ก็มีของขายมากมายให้เลือกซื้อ แต่ที่โดดเด่นที่สุด คงเป็นอาหารการกิน ซึ่งมีหลากหลายอย่างให้ทาน
เดินไป เดินมา ไม่รู้จะทานอะไรดี เหลียวไปเห็นขนมครกน่าทานมากๆ ดิฉันเลยมา 1 กล่อง นำไปทานต่อที่ห้อง ปรากฎว่าอร่อยถูกปากมากๆ เนื่องจากกรอบนอก นุ่มใน แต่ก็ไม่รู้ว่าชื่อร้านอะไรนะคะ มีป้ายบอกชื่อ ดิฉันก็ลืมถ่ายรูปมา เท่าที่เดินดูเห็นมีร้านขนมครกอยู่ร้านเดียวนี้แหละค่ะ หากใครแวะมาเที่ยวสุรินทร์ ก็ซื้อไปทานดู
-------------------------------------------------------------------
เช้าใหม่อากาศแจ่มใสอีกวัน ตื่นมาเช้านี้ในเมืองสุรินทร์ไม่ได้ออกไปทานที่ใหนไกลค่ะ เนื่องจากต้องนั่งสะส่างงานที่ประจำให้แล้วเสร็จ เพราะถ้าไม่เสร็จเดี่ยวมีหวังโดนกินหัวแน่ๆ และคงไม่มีเงินเก็บออกมาเที่ยวแบบนี้
ส่วนอาหารเช้านี้ก็ทานแบบง่ายๆ ไม่หรูหราอลังการนัก โดยใกล้ๆที่พักมีร้านขายของชำ ขายอาหารถุง จำพวกผัดหมี่ แกงถุง ข้าวเหนียวหมู ดิฉันเลยซัดจัดมาหลายอย่างๆ ทานจนอิ่ม
ส่วนอาหารเช้านี้ก็ทานแบบง่ายๆ ไม่หรูหราอลังการนัก มีขนมครก ขนมใส่ไส้ และมะละกอของคุณป้าที่ซื้อมาจากบุรีรัมย์ก็ต้องปอกทานเลย |
หลังจากทานข้าวอิ่มดิฉันก็ขับรถมอเตอร์ไซต์เดินทางออกจากที่พักเพื่อนำกระเป๋าเป้ไปฝากไว้ที่ร้านเช่ารถ ตอนแรกจะฝากไว้ที่โรงแรม แต่เห็นว่าโรงแรมอยู่ไกลเกินไป เลยนำกระเป๋าเป้มาฝากไว้ที่ร้านเช่ารถเลยค่ะ
จากนั้นก็เดินทางขับรถมาที่ สำนักงาน ททท.สำนักงานสุรินทร์ เพื่อสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวในเมืองสุรินทร์ว่า ถ้ามาเที่ยววันเดียวแบบนี้ไปที่ใหนได้บ้าง
เข้าไปสอบถามกับเจ้าหน้าที่ได้แผ่นพับข้อมูลการท่องเที่ยวมาเยอะเลยค่ะ
โดยทางเจ้าหน้าที่ ททท.แนะนำให้ดิฉัน แว๊นๆขับมอเตอร์ไซต์ไปไหว้พระที่วัดบูรพารามก่อนเลย เพื่อความเป็นศิริมงคล จากนั้นให้ไปดูการทอผ้ายกทองที่หมู่บ้านท่าสว่าง หรือหมู่บ้านผ้าทอเอเปคที่มีชื่อเสียง และในเส้นทางเดียวกันนั้น ก็ให้ขับรถไปดูการแสดงช้างที่หมู่บ้านตากลาง ก่อนจะเดินทางกลับ
แผนที่ท่องเที่ยวในจังหวัดสุรินทร์ ไม่ต้องไปกินสุรา แค่เช่ารถมอเตอร์ไซต์เริงร่า ก็ลั๊ลลาไปเที่ยวได้ทั่วทีป ทั่วแดนแล้วล่ะจ้า |
แผนที่ท่องเที่ยวในจังหวัดสุรินทร์ มีอยู่หลากหลายแห่งให้ไปยลตระการกันนะคะ แต่ส่วนใหญ่ก็อยู่นอกตัวเมือง ถ้าจะเที่ยวก็ต้องมียวดยานพาหนะขับออกไปค่ะ หากใครจะลุยเดี่ยวแบบดิฉันก็เช่ารถเที่ยวได้ค่ะ
หลังจากนั้นก็เดินทางขับรถมาที่วัดบูรพาราม เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองสุรินทร์ ว่ากันว่าเป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองสุรินทร์มาช้านาน หากใครที่แวะมาเที่ยวสุรินทร์ แทบทุกรายต้องแวะมาสักการะ กราบพระขอพรที่วัดแห่งนี้ สาระน่ารู้เกี่ยวกับวัดบูรพาราม อ่านกันดูเป็นความรู้จ้า
วัดบูรพารามนี้เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรีหรือในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีอายุประมาณ 200 ปีเท่ากับอายุเมืองสรุินทร์ สร้างโดยพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง(ปุม) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกวัดบูรพารามขึ้นเป็นพระอารามหลวงตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2520
ปัจจุบันวัดบูรพารามเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญของจังหวัดสุรินทร์ คือหลวงพ่อพระชีว์ (หลวงพ่อประจี) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาพร้อมวัดบูรพาราม นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงปู่ดุลย์ พระเถระซึ่งเป็นที่กราบไหว้ของบุคคลทั่วไปด้วย
วัดบูรพาราม วัดเก่าแก่ในเมืองสุรินทร์ |
ใหนๆมาถึงทั้งที ต้องเข้าไปกราบสักการะหลวงพ่อพระชีว์ เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับตัวเอง จะได้เดินทางได้ปลอดภัย มีสติมีสตังอยู่ตลอดเวลา
องค์หลวงพ่อพระชีว์ |
องค์หลวงพ่อพระชีว์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระวิหารจัตุรมุข วัดบูรพาราม หน้าตักกว้าง 2 เมตร 9 เซนติเมตร โดยประมาณเป็นพระพุทธรูปสมัยโบราณกาล ที่ไม่มีท่านผู้ใดสืบประวัติให้เป็นที่แน่ชัดว่า สร้างเมื่อปี พ.ศ. ไหนแน่นอน ทั้งนี้เพราะไม่มีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ปรากฏไว้ในที่ใดเลย เป็นพระแบบปางสะดุ้งมาร เนื้อดินเผาอัดแน่น โดยไม่อาจทราบว่าด้านในนั้นเป็นอะไรบ้าง และมีพุทธลักษณ์ละม้ายไปทางศีลปะแบบขอมในยุคขอมเรืองอำนาจเรืองเลยด้วย
นัยหนึ่ง เล่าสืบ ๆ ต่อกันมาพอได้เค้าความว่า ในราว พุทธศักราช ๒๓๒๙ พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ ผู้ครองเมืองสุรินทร์ในสมัยนั้น ได้เริ่มว่างแผนผังเมือง มีการสร้างหลัก เมืองตลอดถึงวัดที่มีความสำคัญไว้หลายจุดของเมืองในขณะนั้นได้ส่งผู้คนที่เป็นบริวารจำนวนหนึ่ง ให้ไปตั้งรกรากเป็นหมู่บ้านแถบห้วยน้ำลำชี โดยสร้างคอกและเลี้ยงโคกระบือนั้น ถือว่าเป็นพาหนะและแรงงานที่สำคัญที่สุดในยุดนั้น เขาเหล่านั้นก็ต้องประกอบอาชีพการงานเลี้ยงตัว ด้วยการทำไร่ทำนา และทอดแหหาปลาไปตามประสาชาวบ้าน ขณะนั้นมีชาวบ้านมีชาวบ้ากลุ่มหนึ่ง นัดแนะกันไปทอดแหหาเป็นกรณีพิเศษ เพราะจะพากันลงตรงจุดลึกและกว้างที่สุดของลำชี ในขณะที่กำลังพากันทอดแหอยู่นั้น มีท่านผู้หนึ่งได้ดำน้ำลงไปตรงจุดที่ลึกนั้น มือได้ไปคว้าสัมผัสกับสิ่งลึกลับ และแปลกในใจอย่างยิ่งว่า ไม่เคยได้สัมผัสหรือเจออะไรแบบนี้มาก่อนเลย จึงชวนหมู่เพื่อให้ช่วยดำน้ำไปพร้อมกัน เพื่อสัมผัสหรือคลดูว่าเป็นอะไรกันแน่ ครั้นดำลงไปอีกครั้งก็พบสิ่งดังกล่าวจึงช่วยกันยกขึ้นมา
เพียงเมื่อวัตถุนั้นโผล่พ้นน้ำขึ้นมา สายตายของผู้คนที่จองมองดูอยู่แล้ว ก็อุทานขึ้นพร้อมกันว่า "โอ พระพุทธรูป" ต่างคนก็แปลกใจ และดีใจอย่างยิ่ง จึงพร้อมใจกันว่าจะอัญเชิญมามอบให้ท่านเจ้าเมือง แต่ก็มีเสียงความแสดงความคิดเห็นออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายหนึ่งเห็นว่าทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะของนี้อาจเป็นของศักดิ์สิทธิ์ และมีเจ้าของหรือมีเทพเจ้าหวงแหนอยู่ หากนำไปโดยพละการอาจเกิดเหตุเภทภัยอะไรตามมาก็ได้จึงจัดคนผู้มีฝีเท้าจำนวนหนึ่ง ให้รีบเดินทางไปกราบเรียนท่านเจ้าเมืองทราบทันที เมื่อเจ้าเมืองพระยาสุรินทรภักดี ฯ ทราบเรื่องแล้ว ก็ให้อัญเชิญนำมาไว้ที่ วัดบูรณ์ (ชื่อเดิม) ซึ่งอยู่ใจกลางเมือง หน้าศาลากลางจังหวัดพอดี ส่วนศาลเก่าขนาดเล็กนั้นอยู่เยื้องไปทางตะวันตกมาก เมื่อท่านเจ้าเมืองได้เห็น ก็ศรัทธาปีติอย่างยิ่งเพราะเป็นพระเนื้อสำริด หน้าตักขนาดสองคืบ จึงจัดประกอบพิธีสมโภชอัญเชิญประดิษฐานในโบสถ์ต่อไป
เครดิดข้อมูลดีๆจาก : https://sites.google.com/site/shengshork/seiymsi-hlwng-phx-phra-chiw
หลังจากที่ได้ไหว้พระ กราบสักการะหลวงพ่อพระชีว์แล้ว ก็ได้เวลาออกเดินทางไปต่อค่ะ
และที่เที่ยวถัดไปก็คือไปดูหมู่บ้านทอผ้าไหมยกทอง ที่บ้านท่าสว่าง โดยจากตัวเมืองไปยังหมู่บ้านท่าสว่างประมาณ 6 กิโลเมตร
ขับรถออกจากตัวเมืองมาไม่ไกลนักก็ถึงหมูบ้านท่าสว่างแล้วค่ะ เส้นทางถนนก็ราบเรียบ สวยงาม ขับรถมาได้สะดวกสบาย รถราก็ไม่ได้เยอะด้วยนะ
หมู่บ้านท่าสว่าง |
มีจุดให้นั่งพักถ่ายรูปกันอีกด้วย โดยถนนในหมู่บ้านเป็นตลาดผ้าไหมให้นักท่องเที่ยวได้แวะชมและเลือกซื้อกันค่ะ
แม้ว่าจะเป็นวันธรรมดาแต่ในหมู่บ้านทอผ้าแห่งนี้ ก็มีนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์แวะเวียนมาช๊อปปิ้งซื้อเสื้อผ้ากันนะค่ะ
บ้านเรือนในหมู่บ้านท่าสว่าง เป็นบ้านเรือนไม้ยกสูง เรียบง่ายแบบชนบท แวดล้อมไปด้วยต้นไม้สีเขียวปกคลุม น่าอยู่ยิ่งนัก ใต้ถุนด้านล่างก็ทำเป็นที่ทอผ้า
ซูมกล้องไปที่บ้านหลังนี้ มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินีติดประดับไว้ที่หน้าบ้านด้วย
ชมกลุ่มทอผ้ายกทอง “จันทร์โสมา” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักพระราชวัง และมูลนิธิในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในการอนุรักษ์ |
เดินเข้ามาที่ในสถานที่ทอผ้า ดิฉันก็แอบแปลกใจไม่น้อย คิดว่ามาเชียงใหม่เลยค่ะ เพราะแวดล้อมร่มรื่นไปด้วนต้นไม้สีเขียวขจี ดูแล้วสดชื่นรื่นฤดียิ่งนัก
ทางเดินเข้าไปก็สวยงาม สดชื่นดูร่มรื่นน่าอยู่มากๆ
เดินมาหน่อยก็เป็นบ้านไม้เรือนไทย ท่ามกลางไม้ใหญ่ มีต้นไทรย้อยหยาดเยิ้มลงสู่แอ่งน้ำในสวนอันเขียวชะอุ่ม
ใกล้โรงทอผ้าก็เห็นเส้นไหมตากอยู่บนราวสีเหลืองอร่ามผุดผ่องเป็นยองใยเชียว
เดินมาถึงโรงทอผ้า ก็เห็นกลุ่มชาวบ้านท่าสว่างกำลังใช้กี่ทอผ้าอย่างละเมียดละไม
ว่ากันว่าผ้าทอไหมยกทองที่นี้มีชื่อเสียงยิ่งนัก เพราะเป็นผ้าที่ใช้ความปราณีตและความชำนาญสูงมากๆ เป็นหมู่บ้านเดียวในเมืองไทย
การทอผ้าไหมยกทองนั้นใช้คนที่ 4 คนเลยนะค่ะ ตามภาพจะเห็นมี 3 คน |
แต่แท้จริงแล้วมีด้านล่างช่วยสับหว่างเส้นด้ายเพื่อยกผ้าทอด้วยอีก 1 คน |
ดิฉันได้พูดคุยกับคุณน้าที่เป็นคนทอผ้า บอกว่าต้องใช้ฝีมือและทักษะสูง รวมทั้งสมาธิอย่างมาก เพราะด้วยการออกแบบลวดลายที่สลับซับซ้อนงดงาม และผสมผสานกันระหว่างลวดลายการทอแบบราชสำนักกับเทคนิคการทอผ้าแบบพื้นบ้าน จนกลายเป็นผ้าทอที่มีความงดงามอย่างมหัศจรรย์และมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก
สำหรับการทอผ้านั้น ใช้การสอดแทรกการยกดอกด้วยไหมทองที่ทำจากเงินแท้มารีดเป็นเส้นเล็กๆปั่นควบกับเส้นด้าย ใช้ตะกอเส้นพุ่งพิเศษที่ทำให้เกิดลายจำนวน1,416 ตะกอ และใช้คนทอในครั้งเดียวกันถึง 4 คน อีกทั้งยังทอได้เพียงวันละ 4-5 เซนติเมตรเท่านั้น
ดิฉันเห็นชาวบ้านทอแล้วก็เห็นความมานะอุตสาหะในการตั้งใจทอจริงๆ และผ้าไหมยกทองที่ทอแต่ละผืนราคาต้องมีราคาสูงลิบลิ่วทีเดียวล่ะค่ะ เพราะมีออเดอร์สั่งทำมาแทบทุกเดือนเลยล่ะค่ะ
อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย เป็นแกนนำและเป็นผู้รวบรวมชาวบ้านท่าสว่างมารวมกลุ่มกันทำงานทอผ้า |
สำหรับสถานที่ทอผ้าไหมยกทองจันทรโสมานั้น เปิดบริการทุกวันตั้งแต่ เวลา 08.30-17.00 น.
หากเพื่อนๆคนใหนที่เป็นคนชอบผ้าไทย ต้องไม่พลาดแวะมาชมสักครั้งนะคะ แถมยังไดเดินช๊อปปิ้งเลือกซื้อเลือกหา สินค้าของชาวบ้านในชุมชนด้วย
นอกจากนี้ในหมู่บ้านยังมีร้านขายเครื่องเงิน เครื่องประดับทองเหลือให้เลือกซื้อกันอีกด้วย
โดยเป็นงานฝีมือล้วนทำให้ชมกันอีกดวย เพื่อให้มั่นใจว่า งานที่วางขายอยู่นี้ เป็นงานจากฝีมือคนทำอย่างแน่นอน
ตอนที่ดิฉันเดินเข้ามา ช่างซึ่งเป็นผู้หญิงกำลังขมักเขม้นค่อยบรรจงตอกเครื่องทองเหลืออย่างปราณีตเชียว ดิฉันเห็นแล้วก็ต้องคาระวะ นับถือในความอดทนทำงานฝีมือชิ้นนี้ยิ่งนัก
นอกจากนี้ยังมีร้านขายผ้าทอมือแบบต่างๆในหมู่บ้านให้เลือกซื้อกันอีกด้วย
ดูแต่ละผืนก็สวยสดงดงาม ทั้งผ้าพันคอ ทั้งผ้าซิ่นลวดลายต่างๆ ผ้าไหมมัดหมี่ ก็มีให้เลือกสรรตามใจชอบ
ด้านหน้าทางเข้าโรงทอผ้าไหมทอจันทรโสมา ก็มีคุณลุงกำลังปิ้งขนมจากวางขายอยู่พอดี ดิฉันเลยขออุดหนุนคุณลุงสักหน่อยค่ะ แต่ขนมจากคุณลุงใช้ใบกล้วยหอนะคะ เพราะที่สุรินทร์ไม่มีต้นจากเหมือนทางภาคตะวันออกหรือฝั่งภาคใต้ ก็ประยุกต์เอา ดูแล้วกลิ่นหอมหวนน่ารับประทานเหมือนกันนะ
ใหนแวะมาเที่ยวทั้งที ต้องอุดหนุนสินค้าในชุมชนค่ะ ชาวบ้านในท้องที่จะได้มีรายได้
ของที่ระลึกเป็นพวงกุญแจก็มีนะคะ ดูแล้วน่ารักเชียว
ดักแด้ร้อนให้ได้ลิ้มลองทานกัน เวลาทานก็ไม่ต้องไปปรุงแต่งอะไรมากนัก แค่โรยเกลือหน่อยๆคลุกเคล้าเข้ากัน อร่อยมันส์สุดขั้ว แซ่บคั๊กๆ |
ดิฉันเห็นแล้วก็ต้องซื้อมารับประทานเลยล่ะค่ะ มาเที่ยวอีสานรอบนี้ไล่ตั้งแต่โคราช บุรีรัมย์ เข้าสู่สุรินทร์ กินได้กินดีตลอดทางค่ะ เพราะราคาอาหารการกินก็ไม่แพง วัตถุดิบที่ได้ก็มาจากท้องถิ่น ทำให้ราคาไม่ได้สูงเหมือนในเมืองกรุง
โดยเส้นทางจากบ้านท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ ไปยังหมู่บ้านช้างตากลาง อำเภอท่าตูม ประมาณ 42 กิโลเมตร |
โดยเส้นทางจากบ้านท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ ไปยังหมู่บ้านช้างตากลาง อำเภอท่าตูม ประมาณ 42 กิโลเมตร
ขับรถไปก็เจอมีวัวของชาวบ้านกำลังแทะเลมกินหญ้าอยู่ ดูแล้วเรียบง่ายยิ่งนัก |
หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ |
ตอนที่ดิฉันมาเที่ยวสุรินทร์ครั้งก็คิดไปเองว่า ถนนหนทางจะต้องเป็นลูกรังสีแดงๆแน่ๆ แต่แท้จริงแล้วไม่เป็นอย่างนั้นเลย สุรินทร์เดี่ยวนี้เจริญรุดหน้าไปไกลมาก ถนนหนทางสร้างสวยงาม แถมสะอาดสะอ้านเจริญตา มีทุ่งนาเขียวขจีอยู่ริมทาง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ทัศนาจรมาเที่ยวได้อย่างสบายใจ
ดิฉันขับรถจากบ้านท่าสว่างประมาณ 40 กว่ากิโลเมตร ใช้เวลาเกือบชั่วโมงก็มาถึงหมู่บ้านช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้วค่ะ โดยแวะมาที่ศูนย์คชศึกษา ซึ่งเป็นลานแสดงช้าง
อาหารมื้อเที่ยง ทานขนมจากห่อใบตอง กลิ่นหอมพอทานประทังท้องได้อยู่นะค่ะ |
สำหรับการแสดงช้าง มี 2 รอบ คือช่วงเช้าและช่วงบ่าย
ช่วงเช้าเวลา 10.00 น. ส่วนช่วงบ่ายเวลา 14.00 น. มีการจัดแสดงทุกวัน
ส่วนราคาบัตรเข้าชมการแสดงช้างนั้น ผู้ใหญ่ราคา 50 บาท
เด็กโต 20 บาท
เด็กเล็ก 10 บาท
ชาวต่างชาติ 100 บาท
สาระน่ารู้เกี่ยวกับหมู่บ้านเลี้ยงช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ตั้งอยู่ที่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ประมาณ 58 กิโลเมตร ชาวบ้านตากลางเป็นชาวกวย ในอดีตชาวกวยที่นี่มีอาชีพในการคล้องช้างป่ามาฝึกช้างไว้ใช้งานและเป็นสัตว์เลี้ยงประจำครอบครัว สิ่งที่น่าสนใจสำหรับหมู่บ้านช้างคือ เป็นชุมชนที่มีขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองที่ไม่เหมือนใคร ทั้งคนและช้างมีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกัน พึ่งพาเกื้อกูลกันและกันตลอดระยะเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา
นอกจากนี้มีกิจกรรมนั่งช้างชมธรรมชาติรอบหมู่บ้าน
หรือดูช้างอาบน้ำทุกวัน เวลา 15.00-16.00 น.
เดินเข้ามาในศูนย์คชสาร ก็เห็นพ่อหนุ่มน้อยนอนอยู่บนหลังช้างเล่นโทรศัพท์มือถืออันไฮเทคอยู่อย่างสบายใจเชียว
หากเข้ามาช่วงที่ยังไม่ถึงเวลาแสดง ก็มีกิจกรรมนั่งช้างชมธรรมชาติในหมู่บ้านอีกด้วย
ศูนย์คชศึกษา เป็นสถานที่ดำเนินงานตามโครงการนำช้างคืนถิ่น เพื่อพัฒนาสุรินทร์บ้านเกิดมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนให้กลับมาอยู่ถิ่นฐานบ้านเกิด มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนให้กลับมาอยู่ถิ่นฐานบ้านเกิดอย่างมีความสุข โดยจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว อาทิ การเซ่นศาลปะกำ การแสดงของช้าง พิพิธภัณฑ์ช้าง แท็กซี่ช้าง และการแสดงช้างเล่นน้ำ เป็นต้น
หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์ |
สาระน่ารู้เกี่ยวกับศาลปะกำ |
สาระน่ารู้เกี่ยวกับศาลปะกำ
ศาลปะกำเทวาลัยตามความเชื่อของชาวกวยศาลปะกำ เป็นเทวาลัยตามคติของชาวกวย สุรินทร์นิสมสร้างไว้ในชุมชน ที่บ้าน หรือคุ้มขางทายาทสายบิดา คตินิยมนี้ไม่ใช่ลัทธิฮินดู พราหมณ์ แต่เป็นคติที่มีมาเดิมก่อนที่ลัทธิฮินดู พราหมณ์แพร่เข้ามาสู่อินโดจีน หลักฐานเชิงคติชนวิทยาสืบค้นได้ว่าลัทธิอินดู พราหมณ์เพิ่งจะหันมานิยมสร้างเทวาลัยศาสนาสถานในที่ราบกลางชุมชนเพื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 รัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 นี่เอง ก่อนนิยมสร้างไว้บนยอดเขาหรือที่สูง ทั้งนี้เพื่อหันมาเอาใจและเข้าสู่กระแสอารยธรรมของชนพื้นเมืองที่อยู่มาก่อนนี้เอง
หนังประกำ คือเชือกบ่วงบาศ และสายโยงที่ใช้คล้องช้างป่า |
ผีปะกำ คือผีที่สิงสถิตอยู่ในหนังปะกำ ชาวกวยเชื่อว่าเชือกปะกำที่เขาใช้ในการคล้องช้างคือที่รวมวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นพระครูปะกำ หมอช้างต้นตระกูลและวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ไม่จะเป็นพระครูปะกำหมอช้างต้นตระกูลและญาติพี่น้องที่ล่วงลับ ผีปะกำจึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของชาวบ้านตากลาง เชือกปะกำนี้ทำจากหนังกระบือ 3 ตัว นำมาฟั่นเกลียวให้เป็นเชือกยาวประมาณ 40 เมตรปลายข้างหนึ่งทำเป็นบ่วงบาศในยามที่ไม่ได้ออกคล้องช้างจะจัดเก็บเอาไว้บนศาลปะกำ โดยศาลนี้จะมีลักษณะเป็นหอสูง มีสี่เสาหันหน้าไปทางทิศเหนือชาวกวยเลี้ยงช้าง เชื่อว่าหากจะทำกิจการอันใดต้องทำพิธีเซ่นไหว้เพื่อบอกกล่าวขอพรผีปะกำก่อน เพื่อความเป็นสิริมงคลและเพื่อเสี่ยงทายผลที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมนั้นๆ
ช้างน้อยกำลังหยอกล้อเล่นกับเด็กๆ
พอถึงเวลา 14 นาฬิกา ซึ่งเป็นการแสดงรอบบ่าย นักท่องเที่ยวที่แวะมายังศูนย์คชสารก็มานั่งกันเต็มเกือบทุกที่นั่งเชียวค่ะ เนื่องจากวันที่ดิฉันไปเที่ยวเป็นช่วงเด็กปิดเทอม ผู้ปกครองเลยพาเด็กๆมาเที่ยวดูช้างกันเยอะเชียว และเด็กที่มาเที่ยว ต่างก็ตื่นตาตื่นใจอยู่ไม่น้อย
อาหารของช้างไม่พ้นอ้อย แม่ค้ากำลังนับจำนวนอ้อยในตะกร้าว่าจะพอขายใหม๊น๊า เพราะนักท่องเที่ยวมากันเยอะเชียว
การแสดงช้างที่หมู่บ้านตากลาง |
เป็นการแสดงความสามารถของช้างที่ค่อนข้างจะน่ารักทีเดียว โดยเฉพาะช้างตัวเล็กอายุประมาณ 3-4 ขวบ ค่อนข้างจะถูกใจเด็กๆที่มาชมยิ่งนัก
ซึ่งช้างที่นำมาแสดงให้ผู้ชมดู ก็ถูกฝึกฝนเป็นอย่างดี มีการแสดงหลากชุดให้ดูใน 1 ชั่วโมง
อาทิเช่น ช้างวาดรูป
ช้างปาลูกโป่ง เมื่อใดที่ช้างปาลูกโปงได้ ผู้ชมที่นั่งก็ร้องเฮ พร้อมชอบอกชอบใจ
หรือช้างเต้นแอโรบิค ก็สร้างเสียงหัวเราะให้ผู้ชมที่นั่งชมไม่น้อยเช่นกัน
แต่ที่ตื่นเต้นสุดๆ เห็นคงจะเป็นการนอนราบให้ช้างเดินข้ามเนี่ยแหละ เพราะเกรงกลัวว่าช้างเกิดอาการตกใจบางอย่าง แล้วเหยียบคนที่นอนราบอยู่เข้า คงจะขี้แตกขี้แตนและบาดเจ็บสาหัสพอสมควร เพราะช้างตัวใหญ่แถมน้ำหนักก็ไม่น้อยเลย
เมื่อการแสดงจบลง ควาญช้างก็พาน้องช้างเดินต้วมเตี้ยมกลับเข้าไปยังหมู่บ้านต่อไป เพื่อไปพักผ่อน หลังที่ออกมาแสดงและโชว์ตัวให้ผู้ที่แวะเวียนมาได้ชมกัน
หลังจากที่ได้ดิฉันได้ชมการแสดงช้างจบลง ก็ต้องรีบเดินทางกลับเมืองสุรินทร์แล้วค่ะ เพื่อนำรถมอเตอร์ไซต์มาคืนที่ร้านเช่ารถ ถ้านำไปคืนช้า เดียวจะโดนเสียค่าปรับเพิ่มเอาค่ะ จากนั้นทางร้านเช่ารถก็มาส่งดิฉันที่สถานีขนส่ง เพื่อตีตั๋วรถตู้โดยสาร เดินทางจากเมืองสุรินทร์ไปยังเมืองศรีสะเกษต่อโดยรถตู้เที่ยวที่ดิฉันจะเดินทางไปยังศรีสะเกษในรอบนี้ เป็นรถตู้รอบสุดท้ายพอดีตอนเวลา 6 โมงเย็นเป๊ะ รู้สึกว่าโชคดีมากนะคะ เพราะถ้ามัวแต่เอ้อละเหยลอยลมชมท้องนาป่าไร่อยู่ มีหวังตกรถตู้ ได้รอนั่งบัสคันอื่นแน่ๆ
ราคาตั๋วรถตู้ค่าโดยสารจากเมืองสุรินทร์ไป ยังศรีสะเกษ อยู่ที่ 70 บาทค่ะ |
โดยระยะทางจากเมืองสุรินทร์ไปยังจังหวัดศรีสะเกษประมาณ 105 กิโลเมตร ถือว่าระยะทางไกลพอสมควร แต่ก็นั่งรถตู้ไปเรื่อยๆ จนถึงเมืองศรีสะเกษโดยสวัสดิภาพ
จบทริปเที่ยวสุรินทร์ใน 1 วัน เวลาเดินเร็วเหลือเกิน จริงๆแล้วในจังหวัดสุรินทร์ยังมี สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหลายแห่งทีเดียว ถ้าให้เที่ยวจริง คงต้องเที่ยวอีกหลายวันเลยล่ะค่ะ หากเพื่อนๆคนใหนที่ยังไม่เคยแวะมาเที่ยวเมืองนี้ ต้องลองแวะมาสัมผัสด้วยตัวเองสักครั้ง รับรองว่าอลังถึงใจอย่างแน่นอจ้า เพราะเมืองสุรินทร์นี้ นอกจากมีช้างให้ดูแล้ว ยังมีข้าวหอมมะลิรสอร่อย และของกินของฝาก มากมายหลายอย่าง และสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สวยงามดึงดูดตาและตราตรึงใจอีกหลายแห่งทีเดียวค่ะ
สำหรับทริปถัดไปจะพาไปเที่ยวเมืองศรีสะเกษต่อ ไปเมืองสุดท้ายของแบกเป้ลุยเดี่ยวท่องเที่ยวดินแดนอีสานใต้ในครั้งนี้แล้ว เรียกว่ามาเที่ยวเมืองสุรินทร์ครั้งนี้แม้จะมีเวลาจำกัด แต่ก็ได้ไปดูการแสดงช้างอย่างสำราญใจ และแวะดูการทอผ้าที่สวยงามตระการตา แค่นี้ก็สุขอุราได้เปิดตา เปิดใจ เปิดมุมมองรับสิ่งใหม่ๆแล้วล่ะค่ะ
ต้องขอขอบพระคุณผู้อ่านทุกท่านที่เสียสละเวลาคลิ๊กเข้ามาสไลด์ดูกัน หวังว่าจะได้พบกันอีกในเว็ปบล็อกถัดไปนะคะ....จากคุณนายเวอร์ เทอร์ชอบเที่ยวกินนอน
---------------------------------------------------------------------------
บทความอื่นๆ และรีวิวท่องเที่ยวตามเมืองต่างๆที่ผ่านมา มีดังนี้ค่ะ
รีวิวแบกเป้ลุยเดี่ยว เช่ารถมอเตอร์ไซต์เที่ยวในบุรีรัมย์ คลิ๊กดูรีวิวค่ะ>> |
แบกเป้ลุยเดี่ยว เที่ยวเมืองโคราช กินหมี่รสชาติแซ่บๆกันจ้า คลิ๊กดูรีวิวค่ะ>> |
ต้องแวะมา 6 ชายหาดยอดนิยมในชุมพร ที่ต้องแวะไปอรชรกันสักครั้ง>> |
รีวิวเที่ยวหลังสวน ลิ้มลองทุเรียนจากสวนหวานฉ่ำ คลิ๊กดูรีวิวค่ะ>> |
รีวิวเที่ยวชุมพร งามอรชรตลอดกาล เดือน ก.ย.2018 คลิ๊กดูรีวิวค่ะ>> |
หรือดูรีวิวการเดินทางที่เว็ปไซต์ : http://bit.ly/2Oc4kNZ
ตอนจบกับทริปแบกเป้ลุยเดี่ยวเที่ยวยุโรป 26 วัน คลิ๊กดูรีวิวค่ะ>> |
หรือดูรีวิวการเดินทางที่เว็ปไซต์ : http://bit.ly/2xlaVuZ
แบ่งปันการเดินทางในเกาะซานโตรินีด้วยตัวเองง่ายๆ คลิ๊กดูรายละเอียดจ้า>> |
หรือดูรีวิวการเดินทางที่เว็ปไซต์ : http://bit.ly/2p5eQZf
รีวิวตอนที่ 24 แวะเที่ยวกรุงเอเธนส์ 1 วัน มีที่เที่ยวอะไรบ้าง คลิ๊กดูรีวิวค่ะ>> |
หรือดูรายละเอียดที่เว็ปไซต์ : http://bit.ly/2NrtXcU
รีวิวตอนที่ 21 ลุยเดี่ยวไปเที่ยวเนเปิล-เมืองมรณะปอมเปอี คลิ๊กดูรีวิวค่ะ>> |
ดูภาพรีวิวได้ที่เว็ปไซต์ : http://bit.ly/2oiNldZ
รีวิวตอนที่ 20 เที่ยวกรุงโรม ไปจู่โจมอาณาจักรโรมันสักครั้งสิ คลิ๊กดูรีวิวค่ะ>> |
ดูภาพรีวิวได้ที่เว็ปไซต์ : http://bit.ly/2BI8ckL
0 ความคิดเห็น