Header Ads Widget

ads

Ticker

6/recent/ticker-posts

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ วันเข้าพรรษา มีที่มาและมีความสำคัญอย่างไรบ้าง จัดมาให้อ่านกันจ้า

เพื่อไม่ให้เว็ปบล็อกร้างไป วันนี้คุณนายเว่อร์ เธอขอเป็นคนบ้า มาแบ่งปันสาระความรู้ดีๆเกี่ยวกับวันเข้าพรรษา มีที่มา และประโยชน์อย่างไรบ้าง มาให้อ่านกันจ้า


ขอก็สวัสดีทักทาย ซำบายดีกับเพื่อนๆเล่าผู้รักการทัศนาจร อรชร อ้อนแอ้น สุดสะแนน แสนโสภา ช่ะช่ะช่าหัวใจกันทุกๆคนนะคะ ในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี จะมีวันสำคัญที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี นั้นก็คือ วันเข้าพรรษา นั้นเองค่ะ ซึ่งหลายๆคนอาจจะรู้จักแค่ว่า เมื่อถึงวันเข้าพรรษาแล้ว ก็ต้องมีงานแห่เทียนแน่นอน หรือไม่ก็ไปทำบุญที่วัด ร่วมถวายสังฆทาน จตุปัจจัยแก่พระสงฆ์อย่างแน่นอน แต่จริงๆแล้ว วันเข้าพรรษา มีประวัติความเป็นที่น่าสนใจ และมีประโยชน์ต่อพุทธศาสนิกชนชาวไทยเราไม่น้อยเลยทีเดียว วันนี้ดิฉันคุณนายเว่อร์ เธอเลยขอเป็นคนบ้า เลิกงานงานประจำ มาแบ่งปันสาระน่ารู้เกี่ยวกับ วันเข้าพรรษา ให้เพื่อนๆได้อ่านกันค่ะ




วันเข้าพรรษาคืออะไร คำนี้มาจากใหน

วันเข้าพรรษาคือ เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในพุทธศาสนา ที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือนตามที่พระวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือเรียกว่า "จำพรรษา" และยังเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะ ซึ่งพุทธศาสนิกชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาและตั้งใจปฏิบัติธรรม เพื่อละเว้นสิ่งไม่ดีเพื่อพยายามประกอบความดีในช่วงนี้อีกด้วย
 

ที่มาของคำว่า จำพรรษา คืออะไร

- คำว่า จำ หมายถึง พักอยู่
- คำว่า พรรษา หมายถึง ฤดูฝน
ดังนั้นเมื่อแปลรวมคำว่า จำพรรษา จึงหมายถึง การพักอยู่ในช่วงฤดูฝนนั้นเอง
 โดยการเข้าพรรษาตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 3 เดือน 


มูลเหตุที่ต้องจำพรรษา
 
ทั้งนี้เพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน และเพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำ พืช สวน ไร่นา ของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในฤดูฝน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาจำพรรษาตลอด 3 เดือนนั้น เป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์ จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย


ความสำคัญและประโยชน์ของวันเข้าพรรษา 



1.ในวันเข้าพรรษาและช่วงของการจำพรรษาตลอดทั้ง 3 เดือน พุทธศาสนิกชนชาวไทยจะถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งสิ่งที่พิเศษจากวันสำคัญอื่น ๆ คือ มีการถวายหลอดไฟหรือเทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์ด้วย เพื่อสำหรับให้พระสงฆ์ได้ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา


2.นอกจากพระสงฆ์จะจำพรรษาแล้ว ยังเป็นวันบวชเอาพรรษาอีกด้วย ซึ่งการ "บวชเอาพรรษา" ก็คือ ชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จะนิยมบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ในวันตลอดทั้ง 3 เดือน ด้วยเหตุนี้จึงการบรรพชาอุปสมบทนี้ว่า "บวชเอาพรรษา"

3.เมื่อถึงวันเข้าพรรษาของทุกปี ยังถือเป็นวัน "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" หรือ "วันงดเล้า เข้าพรรษา" โดยทางรัฐบาล ได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็นวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ก็เพื่อรณรงค์ให้ชาวไทยตั้งสัจจะอธิษฐานงดการดื่มสุราในวันเข้าพรรษาและในช่วง 3 เดือนระหว่างฤดูเข้าพรรษาและเป็นการเลิกดื่มสุราตลอดไป ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมค่านิยมที่ดีให้แก่สังคมไทยอีกด้วย

4.เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจนเตรียมการสั่งสอนให้กับประชาชนเมื่อถึงวันออกพรรษา

5.เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป

6.ถือเป็นโอกาสดีพุทธศาสนิกชนจะได้ทำบุญ ทำทาน รักษาศีล และชำระจิตใจให้สะอาดผ่องใส โดยการจัดเตรียมสิ่งของต่างๆ เพื่อนำไปถวายแก่พระสงฆ์ที่จะจำพรรษา และการตั้งใจรักษาศีล 5 หรือศีล 8 และตั้งมั่นในการบำเพ็ญความดี เข้าวัดฟังธรรมตลอดพรรษากาล  

7.มีการหล่อเทียนพรรษา เพื่อนำไปถวายที่วัด ซึ่งเป็นกุศลทานอย่างหนึ่งในการให้ทานด้วยแสงสว่าง ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นงานประเพณี "ประกวดเทียนพรรษา" ของแต่ละจังหวัดโดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ ยกตัวอย่างเช่น งานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี

8.มีประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน  (โดยจะถวายก่อนเข้าพรรษา) ผ้าอาบน้ำฝน หรือ ผ้าวัสสิกสาฏก คือผ้าเปลี่ยนสำหรับสรงน้ำฝนของพระสงฆ์ เป็นผ้าลักษณะเดียวกับผ้าสบง โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระภิกษุตามพุทธานุญาตที่ให้มีประจำตัวนั้น มีเพียง อัฏฐบริขาร ซึ่งได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน แต่ช่วงหน้าฝนของการจำพรรษาในสมัยก่อนนั้น พระสงฆ์ที่มีเพียงสบงผืนเดียวจะอาบน้ำฝนจำเป็นต้องเปลือยกาย ทำให้ดูไม่งามและเหมือนนักบวชนอกศาสนา นางวิสาขามหาอุบาสิกาจึงคิดถวาย "ผ้าวัสสิกสาฏก" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระสงฆ์ได้ผลัดเปลี่ยนกับผ้าสบงปกติ จนเป็นประเพณีทำบุญสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

9.ประเพณีถวายผ้าอัจเจกจีวร (ถวายระหว่างเข้าพรรษา)
สำหรับผ้าอัจเจกจีวร ก็หมายถึง จีวรรีบร้อน หรือผ้าด่วน ก็คือ ผ้าจำนำพรรษาที่ถวายล่วงหน้าในช่วงเข้าพรรษา ก่อนกำหนดจีวรกาลปกติ ด้วยเหตุรีบร้อนของผู้ถวาย เช่น ผู้ถวายจะไปรบทัพหรือเจ็บไข้ไม่ไว้ใจว่าจะมีชีวิตรอดหรือไม่ชีวิต หรือเป็นบุคคลที่พึ่งเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา ควรรับไว้ฉลองศรัทธา

และผ้าอัจเจกจีวรนี้ เป็นผ้าที่มีความหมายเดียวกันกับผ้าจำนำพรรษา เพียงแต่ถวายก่อนฤดูจีวรกาลด้วยวัตถุประสงค์รีบด่วน หรือด้วยความไม่แน่ใจในชีวิต ซึ่งประเพณีนี้คงมีสืบมาแต่สมัยพุทธกาล แต่ปัจจุบันไม่ปรากฏเป็นพิธีใหญ่ เพราะเป็นการถวายด้วยสาเหตุส่วนตัวเฉพาะรายไป ส่วนมากจะมีเจ้าภาพผู้ถวายเพียงคนเดียว และเป็นคนป่วยหนักที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าเท่านั้น
และผ้าอัจเจกจีวรเช่นนี้ พระวินัยอนุญาตให้พระสงฆ์รับเก็บไว้ได้ แต่ต้องรับก่อนวันปวารณาไม่เกิน 10 วัน (คือตั้งแต่ขึ้น 6 ค่ำ ถึง 15 ค่ำเดือน 11) และต้องนำมาใช้ภายในช่วงจีวรกาล
เครดิตข้อมูลดีๆจากสารานุกรมเสรีวิกิพีเดีย : https://th.wikipedia.org/wiki/วันเข้าพรรษา


สำหรับข้อมูลดีๆในเว็ปบล็อกวันนี้ น่าจะมีประโยชน์ต่อคุณผู้อ่านทุกๆท่านไม่มากก็น้อย หากมีข้อผิดพลาด ประการใด ดิฉันต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ ขอบพระคุณผู้อ่านทุกท่านที่เสียสละเวลา คลิ๊กเข้ามาสไลด์เลื่อนเปิดอ่านกัน หวังว่าจะได้พบกันอีกในเว็ปบล็อกถัดไปนะคะ.....จากคุณนายเว่อร์ เทอร์ชอบเที่ยวกินนอน--------------------------------------------------------------------------------

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น