Header Ads Widget

ads

Ticker

6/recent/ticker-posts

สาระน่ารู้เกี่ยวกับ ปลาตะเพียนใบลาน งานหัตถศิลป์สุดล้ำค่า มีที่มาอย่างไร จัดมาให้อ่านเป็นความรู้กัน

บทความน่ารู้วันนี้ ขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับปลาตะเพียนสานใบลาน (Thai-style fish mobiles handicraft made by palm leaves)



แวะไปเดินออนซอนที่ซุ้มภาคกลาง ซึ่งจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับงานหัตถกรรม และหัตถศิลป์ล้ำค่าหลายชิ้นงานเลย และอีกหนึ่งชิ้นงานที่ทำให้ตัวดิฉันคิดถึงสมัยตอนเด็กๆก็คือ ปลาตะเพียนใบลาน หรือโมบายปลาตะเพียน ห้อยระโยงโตงเตงไว้ที่เปลเด็ก และเดี๊ยนเองก็เคยฝึกทำสมัยเรียนประถมศึกษา ตอนเรียนวิชา กพอ.ซึ่งสมัยนั้นฝึกสานปลาตะเพียนด้วยใบมะพร้าว เห็นแล้วก็อยากกลับไปเมื่อวันวานอีกครั้งจังค่ะ วันนี้เลยนึกสนุกมาค้นหา ความรู้สาระน่ารู้เกี่ยวกับปลาตะเพียนให้ท่านได้อ่านกันค่ะ น่าจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ


 
ตามภาพ หมู่มวลปลาตะเพียนใบลาน รูปแบบต่างๆ ซึ่งจัดแสดงไว้ที่หมู่บ้านภาคกลาง ในงานเที่ยวเมืองไทย สวนลุมพินีจัดทุกปี

สาระน่ารู้เกี่ยวกับปลาตะเพียนใบลาน มีประวัติเป็นมาอย่างไร  


ด้วยเหตุที่ปลาตะเพียน เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ การทำรูปปลาตะเพียนจากใบลาน แขวนไว้ในบ้านเรือน จึงนิยมทำกันมาตั้งแต่อดีตและปรากฎหลักฐานว่า เมื่ออยุธยายังเป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองนั้น แหล่งขายปลาตะเพียนสานจะอยู่ที่ย่านป่าโทนใกล้กับสะพานชีกุน ส่วนปัจจุบันผู้สานปลาตะเพียนใบลานก็ยังคงมีอยู่ แต่มักเป็นชาวมุสลิมในท้องที่ตำบลท่าวาสุกรี และตำบลประตูชัยที่เรียกกว่า บ้านหัวแหลม ซึ่งปัจจุบันก็ยังทำอยู่โดยสืบทอดงานสานนี้มาร่วมร้อยกว่าปี จนถึงปัจจุบันก็ยังคงทำอยู่ เป็นชุมชนที่ยังคงทำปลาตะเพียนใบลานจำหน่ายที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งของเมืองไทย


ในปัจจุบันยังมีการคิดเพิ่มเติมค่าให้ปลาตะเพียนในสมัยปัจจุบัน ได้มีการค้นคิดการฉลุใบลานขึ้นมาอีกเพี่อเพิ่มคุณค่าและลวดลายต่างๆลงไป อีกทั้งยังพัฒนา ประโยชน์การใช้งานปลาตะเพียนสานใบลานให้มีประโยชน์มากกว่าการที่จะเป็นเครื่องแขวนสำหรับใช้ในโอกาสอื่น ๆ อีกมากมายได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า Otop กรุงเทพที่เขตธนบุรี และได้เป็นวิสาหกิจชุมชน ได้มีการจดลิขสิทธิ์ และแจ้งภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย

 
โดยที่มาของปลาตะเพียนใบลาน งานจักรสานสวยงามนี้ถือได้ว่าเป็นอาชีพที่เก่าแก่ของชุมชนแห่งนี้มานานเป็น 100 กว่าปีแล้วค่ะ โดยแรงบันดาลใจในการสร้างสานรูปร่างปลาตะเพียนใบลานขึ้นมานี้ เกิดจากความรู้สึกผูกพันกับอยู่สายน้ำและหมู่ปลาในแม่น้ำ ทำให้เกิดภูมิปัญญาในการสรรค์สร้างชิ้นงานจักรสาน ปลาตะเพียนขึ้นมา โดยใช้วัสดุจากท้องถิ่นที่หาได้ง่ายรอบตัวๆ เช่นใบมะพร้าว ใบลาน ใบตาล หรือใบเตย โดยครั้งแรกที่สร้างขึ้นมานั้นจะเรียกว่า "ปลาโบราณ" โดยทำเป็นตัวปลาขนาดเล็กๆ วัสดุทำจากใบลานทาด้วยสีเหลืองซีดๆ ซึ่งเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่เรียกกันว่า "รงค์" โดยรงค์นี้เป็นส่วนผสมกับน้ำวานิช เพื่อทำเสร็จจะนำไปเสียบไม้ สำหรับห้อยแขวนตามรั้วบ้านและห้อยเปลเด็ก




จากภาพ ปลาตะเพียนใบลาน แบบสีธรรมชาติ ไม่มีการตกแต่งลวดลาย หรือทาด้วย รงค์ แต่อย่างใด


ปลาตะเพียนใบลานผูกพันกับวิถีชีวิตไทยอย่างไร 



- ปลาตะเพียนถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ เพราะช่วงที่ปลาโตเต็มที่กินได้อร่อยเป็นช่วงที่ข้าวตกรวงพร้อมเก็บเกี่ยวพอดี ด้วยความเชื่อในเรื่องดังกล่าวนี้เอง จึงมีผู้นิยมนำใบลานแห้งๆ มาสานขดกันเป็นปลาตะเพียนจำลองขนาดต่างๆ แล้วผูกเป็นพวงๆ แขวนไว้เหนือเปลนอนของเด็กอ่อนเพื่อให้เด็กดูเล่น และถือเป็นสิ่งมงคลสำหรับเด็ก เพื่อเป็นการอวยพรให้เด็กเจริญเติบโต มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีฐานะมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ดุจปลาตะเพียน
 

- ปลาตะเพียนเป็นสิ่งที่มีความเป็นสิริมงคล ทำให้เงินทองไหลมาเทมา บ้างก็ว่า หากบ้านใครที่ได้แขวนปลาตะเพียนไว้หน้าบ้าน จะทำให้บ้านนั้น มีความเจริญรุ่งเรือง มั่งมีสุขสุข ร่ำรวยเงินทอง มีความสงบร่มเย็น นอกจากนี้ปลาตะเพียนยังมีนัยยะที่บ่งบอกถึงเรื่องความขยันหมั่นเพียรอีกด้วย ด้วยปลาตะเพียนเป็นปลาที่อยู่ในน้ำมีความอดทน และขยันหมั่นเพียรในการออกหากินด้วย



ปลาตะเพียนใบลาน สานเป็นปลาตัวเล็ก ประยุกต์ทำเป็นพวงกุญแจ กะจิ๋วหลิว น่ารักฟรุ้งฟริ้งสุดสวิงริงโก้ สำหรับเป็นของที่ระลึก


โดยงานหัตศิลป์ฝีมือปลาตะเพียนสานเป็นเครื่องแขวนที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนสำคัญ 6 ชิ้นคือ กระโจม แม่ปลาตัวใหญ่ กระทงเกลือ ปักเป้า ใบโพธิ์ และลูกปลาตัวน้อยๆ โดยแบ่งเป็น 2 ชนิดดั้งนี้
(Thai-style fish mobiles handicraft made by palm leaves)


1.ชนิดที่เขียนเป็นลวดลายตกแต่งสวยงาม สำหรับแขวนเหนือเปลลูกน้อยทารก ผู้มีบรรดาศักดิ์


2.ชนิดเป็นสีใบลานเรียบๆ ไม่มีการตกแต่งอย่างใดใช้แขวนเหนือเปลลูกชาวบ้านธรรมดาสามัญ 
 

สำหรับรูปทรงปลาตะเพียนและการเข้าชุดในปัจจุบันนั้น ก็ได้มีการพัฒนาการให้แตกต่างไปจากอดีตเล็กน้อย โดยมีการเล่าขานสือต่อกันมาว่า ผู้ที่คิดค้นดัดแปลงแบบคือ หลวงโยธาฯ ข้าราชการเกษียณในสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้มีนิวาสสถานอยู่ใกล้สะพานหัน ตำบลวังบูรพา กรุงเทพฯ เป็นผู้ประดิษฐ์คิดทำให้สวยงามขึ้น แล้วนำออกจำหน่ายตามงานวัดต่างๆ นับแต่นั้นมาคนก็หันมานิยมปลาตะเพียนสานกันมากขึ้น 
 

แม่ว่าปัจจุบันนั้นความนิยมการสานปลาตะเพียนไปแขวนเปลให้เด็กอ่อนอาจจะเหลือน้อยมากแล้วก็ตาม กลายเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนและสร้างรายได้ให้ครอบครัวของชาวบ้านในพื้นที่บ้านหัวแหลม ชุมชนท่าวาสุกรีได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะเป็นงานหัตถศิลป์ที่สวยงามแล้ว ยังเป็นสื่อที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตของคนไทยในอดีตที่มีความผูกพันกับแม่น้ำอย่างเห็นได้ชัด และสืบทอดงานนี้มาตั้งรุ่นบรรพรุษมาจนถึงปัจจุบันเพื่อไม่ให้งานหัตถศิลป์ชิ้นนี้สุญหาย ในฐานะที่เราเป็นคนไทยควรจะกระหนักและร่วมกันอนุรักษ์งานหัตถศิลป์นี้ไว้ตลอดไป

และสำหรับการสืบสานงานหัตศิลป์ปลาตะเพียนใบลานในปัจจุบันนั้น ได้มีการนำเอามาบรรจุลงในความรู้ วิชาในตำราเรียนของนักเรียนชั้นประถมและมัธยมศึกษาได้ฝึกปฎิบัติและเรียนรู้งานหัตศิลป์ชิ้นนี้ ทำให้การสานปลาตะเพียนไม่สูญหายไป และทำให้เด็กรุ่นใหม่รู้สึกหวงแหนและรักความเป็นไทยอีกด้วย

ขอขอบพระคุณข้อมูลจาก https://th.wikipedia.org/wiki/ปลาตะเพียนสาน
เครดิตข้อมูลจาก https://thailandhandmadebuu.wordpress.com/category/ปลาตะเพียน
------------------------------------------------------------------------------------------


แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น