|
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของ วัดไผ่ล้อม วัดเก่าแก่สำคัญคู่เมืองตราดแห่งนี้ มีที่มาอย่างไร นำมาให้อ่านเป็นความรู้กันจ้า |
สวัสดีคุณผู้อ่านและเหล่านักรักการทัศนาจรทุกๆคนค่ะ กลับมาพบปะทักทาย ซำบายดีบ่กันอีกครั้งนะคะ กับบทความบล็อกสาระน่ารู้เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทั่วฟ้าเมืองฟ้า ที่จะสรรหามาให้ได้อ่านกัน และสำหรับเพื่อนๆคนใหนที่ มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวในตัวเมืองตราด แน่นอนว่า ต้องไม่พลาด ต้องไปเช็คอินไหว้พระที่ วัดไผ่ล้อม วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองตราดอย่างแน่นอน วันนี้เดี๊ยนเลยขอนำสาระความรู้เล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของ วัดไผ่ล้อม มาให้ได้อ่านกันค่ะ
|
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัดไผ่ล้อม วัดสำคัญในตัวเมืองตราด (Wat Pai Lom, Trat Province ) |
สาระน่ารู้เกี่ยวกับวัดไผ่ล้อม เมืองตราด (Wat Pai Lom, Trat Province )
สำหรับ วัดไผ่ล้อม จัดเป็นหนึ่งในวัดเก่าแก่ สำคัญในตัวเมืองตราด สร้างขึ้นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตามหนังสือรับรองสภาพวัดของกรมการศาสนา แต่ไม่มีปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างขึ้น เป็นวัดเก่าแก่มีอายุกว่า 150 ปี ตั้งอยู่เลขที่ 238 ต.บางพระ อ.เมือง จ.ตราด มีพื้นที่ตั้งวัด 14 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา วัดไผ่ล้อมถือเป็นวัดที่มีความสำคัญต่อการศึกษาของจังหวัดตราดเป็นอย่างมาก เคยเป็นที่พำนักของผู้ที่ชาวตราดยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งการศึกษาจังหวัดตราด” คือ พระวิมลเมธาจารย์วรญาณคณานุรักษ์ สังฆปาโมกข์ (เจ้ง จนฺทสโร)
|
พระอุโบสถที่ยังอยู่ในสภาพที่ดี |
จุดเด่นของวันนี้คือตัวเจดีย์เป็นรูปทรงระฆังคว่ำแปดเหลี่ยม ปลียอดเป็นทรงดอกบัวตูมปิดทับด้วย โมเสกเคลือบทองคำจากอิตาลี ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุและพระเครื่องโบราณของวัดไผ่ล้อม ชั้นสองจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ และบอกเล่าประวัติความเป็นมาของวัดอีกด้วย อีกทั้งมีพระอุโบสถเก่าแก่ที่ยังคงอยู่ในสภาพที่ดี
เมื่อครั้งที่ได้มีคำสั่งให้มีการจัดตั้งโรงเรียนอย่างเป็นทางการครั้งแรกในจังหวัดตราดโดยใช้ชื่อว่า สำนักสอนหนังสือไทยวัดไผ่ล้อมนั้น ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นครูผู้สอน ซึ่งถือว่าท่านเป็นครูคนแรกของจังหวัดตราด นอกจากนี้ท่านยังได้จัดตั้งโรงเรียนสอนนักธรรมขึ้นเป็นครั้งแรกที่วัดไผ่ล้อม และจัดตั้งโรงเรียนสอนบาลีแก่พระสงฆ์อีกด้วย
ภายหลังจากที่ท่านมรณภาพ พระบุรเขตต์คณาจารย์สุทธิสารวรนายก สังฆปาโมกข์ (พิ้น สุนฺทโร) ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ซึ่งเมื่อครั้งที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้ให้มีการจัดตั้งโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นในวัดไผ่ล้อม จัดตั้งกองทุนบุรเขตต์คณาจารย์ขึ้น เพื่อให้ทุนแก่นักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ และท่านยังสนับสนุนการศึกษาของพระสงฆ์ โดยการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมขึ้น
นอกจากพระวิมลเมธาจารย์วรญาณคณานุรักษ์ สังฆปาโมกข์ (เจ้ง จนฺทสโร) และพระบุรเขตต์คณาจารย์สุทธิสารวรนายก สังฆปาโมกข์ (พิ้น สุนฺทโร) แล้วก็ยังมีอีกพระคุณเจ้าอีกรูปหนึ่งที่มีคุณูปการต่อชาวตราด นั่นคือพระราชเขมากรสุนทรธรรมนิวิฏฐ์ (ปกรณ์ อารทฺธวิริโย) ผู้ที่ได้รับการยกย่องจากพระพิศาลธรรมพาที (พระพะยอม กลฺยาโน) ว่าเป็น “เพชรน้ำงามของจังหวัดตราด” ซึ่งท่านได้จัดตั้งกองทุนสนับสนุนทางด้านการศึกษา และเทศนาสั่งสอนประชาชนตามท้องถิ่นต่างๆ
|
“เจดีย์สามท่านเจ้าคุณ” บนพื้นที่บนเกาะกลางน้ำในสวนพุทธธรรมพระบุรเขตต์คณาจารย์ ภายในวัดไผ่ล้อม |
และเมื่อท่านทั้งสามซึ่งเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวตราดได้ถึงแก่มรณภาพ ศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย จึงได้รร่วมประชุมกัน เพื่อจัดสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงคุณูปการที่ท่านทั้งสามได้ทำไว้ และได้ลงมติให้มีการสร้าง “เจดีย์สามท่านเจ้าคุณ” ขึ้น บนพื้นที่บนเกาะกลางน้ำในสวนพุทธธรรมพระบุรเขตต์คณาจารย์ ภายในวัดไผ่ล้อม โดยออกแบบเจดีย์ให้เหมาะสมกับพื้นที่และคงทนต่อสภาพอากาศ “ฝนแปดแดดสี่”ของจัดหวัดตราด องค์เจดีย์เป็นรูปทรงระฆังคว่ำ 8 เหลี่ยมเป็นอาคาร 2 ชั้นจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ ส่วนปลียอดของเจดีย์เป็นทรงดอกบัวตูมปิดทับด้วยโมเสคเคลือบทองคำจากประเทศอิตาลี ภายในปลียอดจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุและพระเครื่องโบราณของวัดไผ่ล้อม
|
โดยภายในพิพิธภัณฑ์เจดีย์สามท่านเจ้าคุณแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นที่ 1 ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ส่วนชั้นที่ 2 เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปหยกปางสดุ้งมาร |
ภายในพิพิธภัณฑ์เจดีย์สามท่านเจ้าคุณแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นที่ 1 ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ส่วนชั้นที่ 2 เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปหยกปางสดุ้งมาร และรูปปั้นไฟเบอร์กลาสสามท่านเจ้าคุณ ภายนอกของตัวอาคารจะมีซุ้มเจดีย์ 4 ซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาสร้างด้วยทองเหลือง และอีกสามซุ้มจะเป็นที่ประดิษฐานของรูปหล่อทองเหลืองของสามท่านเจ้าคุณ คือพระวิมลเมธาจารย์วรญาณคณานุรักษ์ สังฆปาโมกข์ (เจ้ง จนฺทสโร) พระบุรเขตต์คณาจารย์สุทธิสารวรนายก สังฆปาโมกข์ (พิ้น สุนฺทโร) และพระราชเขมากรสุนทรธรรมนิวิฏฐ์ (ปกรณ์ อารทฺธวิริโย)
|
พระอุโบสถเก่าแก่ภายในวัดไผ่ล้อม |
สิ่งสำคัญภายในบริเวณวัด ได้แก่สวนพุทธธรรม สำหรับให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่ปฎิบัติธรรม พระอุโบสถที่ยังอยู่ในสภาพที่ดี และเจดีย์พิพิธภัณฑ์สามท่านเจ้าคุณ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของชาวตราดและจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนี้พระภิกษุสามเณรทุกรูปต่างก็ปฎิบัติตามหลักของพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด และมีแนวทางการสอนเน้นเรื่องความกตัญญูอันเป็นรากฐานที่มั่งคงในการดำรงชีวิตของทุกคน
|
วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์ |
อีกทั้งวัดแห่งนี้เป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์ พร้อมเสด็จฯ เยี่ยมเยียนประชาชนชาวตราด ที่เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จอย่างเนืองแน่น เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2511 แม้ในปัจจุบันวัดก็ยังเป็นที่พึ่งพาของชาวบ้าน มีการพัฒนาสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในตัวเมืองตราด ที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนอย่างไม่ขาดสายอีกด้วย
-------------------------------------------------------------------------
0 ความคิดเห็น